ขั้นตอนการทำใบขับขี่สากลในประเทศไทย
ต้องการทำใบขับขี่สากล ควรไปที่ไหน และเตรียมอะไรบ้าง ยุ่งยากหรือไม่?
หลังจากสถานการณ์COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง หลาย ๆ ประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น แน่นอนว่าหลาย ๆ ท่านคงมีแพลนที่จะไปต่างประเทศอย่างแน่นอน การเดินทางในหลายๆประเทศนั้นก็มีให้เลือกมากมาย และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อทริปสูงสุดก็คือ รถยนต์ส่วนตัว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว แต่การจะไปขับขี่รถในต่างประเทศนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมี ใบขับขี่สากล ติดตัวไว้ก่อน เพื่อให้สามารถขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นวันนี้เราก็มีขั้นตอนการทำใบขับขี่สากลในประเทศไทยมาฝากทุกท่านกัน
หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า ใบขับขี่สากล International Driving Permit (IDP) กันบ้างแล้ว หรืออาจจะได้ยินเป็นชื่ออื่นๆ เช่น ใบขับขี่ระหว่างประเทศ, ใบขับขี่นานาชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกสารเดียวกัน คือเป็นเอกสารที่ใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อให้ผู้ถือสามารถขับขี่ได้ในประเทศ/ดินแดนที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด โดยจะใช้แสดงให้กับเจ้าหน้าที่ในแต่ละประเทศ พร้อมกับใบขับขี่จากประเทศบ้านเกิด เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถออกนอกประเทศได้อย่างถูกกฎหมายนั่นเอง
ประเภทของใบขับขี่สากลนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามการเข้าร่วมเป็นภาคีของการทำข้อตกลงตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ได้แก่
- อนุสัญญาเจนีวา 1949 หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 ใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 นี้จะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น สามารถนำไปใช้ได้ใน 101 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น
- อนุสัญญาเวียนนา 1968 หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 ใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 นี้จะมีอายุ 3 ปี นับแต่วันออกใบขับขี่สากล แต่ไม่เกินกว่าอายุของใบขับขี่ภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ หรืออาจจะจำง่ายๆว่า เท่ากับอายุของใบขับขี่ภายในประเทศไทยนั่นเอง สามารถนำไปใช้ได้ 86 ประเทศทั่วโลก เช่น บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เมียนมาร์ เป็นต้น
ซึ่งสำหรับประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน รวมถึงประเทศไทย สามารถใช้ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพียงฉบับเดียวได้
โดยเมื่อใบขับขี่สากลหมดอายุแล้ว สามารถทำใหม่ได้โดยการขอเล่มใหม่เท่านั้น ไม่สามารถต่ออายุจากเล่มเดิมได้ หรือสามารถขอเล่มใหม่ได้ก่อนที่เล่มเก่าจะหมดอายุไม่เกินหนึ่งเดือน ทั้งนี้ผู้ที่จะสามารถขอทำใบขับขี่สากลได้ จะต้องเป็นผู้ที่ถือใบขับขี่ไทยประเภท 5 ปีหรือตลอดชีพเท่านั้น โดยหมายรวมถึงทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
- ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรับบริการได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5
- นอกพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรับบริการได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) หรือหากท่านใดสะดวกจองคิวก็สามารถทำการจองคิวล่วงหน้าผ่าน แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถ แจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำใบขับขี่สากลไปใช้ต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบความเกี่ยวข้องในการร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาก่อนหรือ สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองที่ศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสาร กรมการขนส่งทางบก
สำหรับเอกสาร/หลักฐานที่ต้องใช้ในการทำใบขับขี่สากลนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
- สำหรับคนไทย
- หนังสือเดินทาง เล่มที่ใช้ในการเดินทาง ประวัติหน้าที่แก้ไข (ฉบับจริง) ที่ยังไม่หมดอายุ
- บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) ที่ยังไม่หมดอายุ
- ใบขับขี่ไทย (5ปี,ตลอดชีพ,ขนส่ง) (ฉบับจริง) ที่ยังไม่หมดอายุ
- รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป (เป็นรูปถ่ายที่ไม่เคลือบมัน ประทับตราราชการติด) ซึ่งเป็นรูปถ่ายครึ่งตัวหน้าตรง ไม่สวมหมวกหรือแว่นตาสีเข้ม และไม่ใส่ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมของศาสนาของตน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน
- สำหรับชาวต่างชาติ
- หนังสือเดินทางและวีซ่า (ต้องไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือเดินทางผ่านเมือง) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับจริง) หรือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือ ใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit) ที่แสดงรายละเอียด ที่อยู่ และยังไม่หมดอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศออกให้ (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- ใบขับขี่ไทย (5ปี หรือ ตลอดชีพ) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา) ที่ยังไม่หมดอายุ
- รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป (เป็นรูปถ่ายที่ไม่เคลือบมัน ประทับตราราชการติด) ซึ่งเป็นรูปถ่ายครึ่งตัวหน้าตรง ไม่สวมหมวกหรือแว่นตาสีเข้ม และไม่ใส่ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมของศาสนาของตน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน
ทั้งนี้การทำใบขับขี่สากลนั้นยังสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้ โดยเตรียมหลักฐานเพิ่มเติมดังนี้
- ใบมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท
- บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ(ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- หลักฐานของผู้มอบอำนาจที่จะใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (สำเนาพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
ขั้นตอนการขอทำใบขับขี่สากล แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
- ยื่นคำขอ ตรวจสอบหลักฐาน ที่สำนักงานขนส่งใกล้บ้าน : แสดงตน / ยื่นคำขอ ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติเบื้องต้น/จัดทำคำขอ/ผู้ขอลงนามคำขอ
- ตรวจสอบเอกสารผ่าน รับใบขับขี่สากล : ชำระค่าธรรมเนียม ( ปิดรับชำระเงิน 15.30 น. ) / ออกใบเสร็จ / จัดทำใบขับขี่สากล / นายทะเบียนลงนาม / จ่ายใบขับขี่สากล
เมื่อทราบทั้งสถานที่การขอใบขับขี่สากล เอกสารที่ต้องใช้ในการขอใบขับขี่สากล และขั้นตอนการทำใบขับขี่สากลในประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้ว ก็อย่าลืมเตรียมเอกสารให้ครบ และนำไปยังสำนักงานขนส่งใกล้บ้านท่าน ก่อนที่จะต้องไปทำธุระหรือท่องเที่ยวต่างประเทศกันนะคะ ทั้งนี้ในการนำใบขับขี่สากลไปใช้ในต่างประเทศ แนะนำว่าให้นำใบขับขี่ของประเทศไทยแสดงควบคู่กับใบขับขี่สากลด้วยทุกครั้ง และอย่าลืมเคารพกฎจราจรของแต่ละประเทศที่เราไปเที่ยวหรือไปทำธุระกันด้วย
ติดต่อเรา มาสเตอร์ พีซ ทรานสเลชั่น
โทร : 02-9075533, 081-8024950
Line ID : @line2004
Email : mpttranslator@gmail.com